Blue Screen of Death คืออะไร?
เชื่อแน่ๆ ว่าผู้ใช้พีซีไม่ว่าจะมือใหม่หรือมือเก๋า น่าจะเจออาการแบบรูปที่ 1 กันบ้าง ไม่มากก็น้อย
แต่ปฏิกิริยาที่เจออาจจะแตกต่างกัน ถ้าเป็นมือเก๋า ก็แค่ร้อง "ว้าเว้ย!!" แล้วก็หาทางแก้กันไป หน้าจอเดียวกันนี้ ถ้าเป็นมือใหม่หัดใช้คอมพ์ อาจถึงกับลนลานรีบต่อสายตรงที่ช่างซ่อมคอมพ์ทันทีเลยทีเดียว แต่ช้าก่อนครับ!!?? ถ้าคุณได้อ่านบทความเรื่องนี้ อาจช่วยลดอาการลนลานได้บ้าง และถ้าคุณร้าสาเหตุที่มาที่ไปของอาการนี้คุณอาจช่วยเหลือตัวเองได้บ้างโดยไม่ต้องง้อช่างเลย
ทีนี้มาถึงคำตอบของคำถามที่ผมตั้งเป็นหัวข้อไว้ Blue Screen of Death ( ต่อไปขอย่อว่า BOD นะครับ) อธิบายง่ายๆ ก็คือ หน้าจอที่แสดงอาการผิดปกติของวินโดวส์ ซึ่งอาการที่เกิดได้ก็มาจากหลายๆ สาเหตุ ทั้งเกิดจากซอฟต์แวร์ก็ได้ หรือฮาร์ดแวร์ก็ได้ หรือเกิดพร้อมๆ กันเลยก็มี เหตุที่ตั้งชื่อให้มันน่ากลัวขนาดนั้น ก็เพราะถ้าหน้าจอสีฟ้านี้แสดงขึ้นมา มันหมายความว่าอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น ค่อนข้างหนักหนาจนวินโดวส์ไม่สามารถทำงานต่อไปได้ นอกจากรีเซ็ตเครื่องเพียงอย่างเดียว
ในบางกรณี การรีเซ็ตเครื่องหลังจากขึ้นบลูสกรีน ก็สามารถใช้งานเครื่องพีซีต่อได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าปัญหาจะหมดไป วันดีคืนดี หน้าจอมรณะก็อาจจะกลับมาหลอกหลอนได้อีก เพราะสาเหตุของปัญหายังไม่ได้ถูกขจัด ถามว่าทำไมบลูสกรีนอยู่ๆ ก็เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ทั้งๆทีใช้งานมาตั้งนานยังไม่เคยมีปัญหาแบบนี้? คำตอบของปัญหานี้จะไปโทษระบบปฏิบัติการเพียงอย่างเดียวก็คงจะไม่ได้ อย่างที่รู้กันอยู่แล้วว่าการทำงานของเครื่องพีซีต้องประกอบไปด้วยฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์เป็นหลัก ฮาร์ดแวร์ถ้าไม่ซอฟต์แวร์ควบคุมจัดการก็ไม่ต่างอะไรกับเศษเหล็ก ในทางกลับกันถ้าซอฟต์แวร์ไม่มีอะไรให้จัดการก็ไม่ต่างอะไรจากโค้ดดิ้งไร้สาระหลายหมื่นบรรทัด และในเมื่อทั้งสองอย่างต้องทำงานร่วมกัน ความเข้ากันได้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
มาถึงตรงนี้อาจจะเป็นคำตอบของคำถามที่ว่า ทำไมหน้าจอมรณะถึงพบบ่อยได้นักในระบบปฏิบัติการ วินโดวส์ทุกยุค ทุกสมัย นั่นก็เพราะ วินโดวส์เป็นระบบปฏิบัติการที่จำเป็นต้องออกแบบให้ใช้กับเครื่องพีซีและอุปกรณ์ รอบข้างให้ได้หลากหลายที่สุดเท่าที่จะทำได้ แตกต่างจากระบบยูนิกซ์หรือ แมคโอเอส ที่ออกแบบมาเพื่อเครื่องยูนิกซ์หรือแอปเปิ้ลเพียงอย่างเดียว ลองนึกดูง่ายๆ แค่เมนบอร์ดที่ใช้กับเครื่องพีซีก็มีกี่ยี่ห้อ กี่รุ่น เข้าไปแล้ว ยังไม่นับกราฟิกการ์ด ซาวด์การ์ด โมเด็ม ฯลฯ และอีกสารพัดอุปกรณ์ที่ต้องนำมาเชื่อมต่อ ซึ่งอุปกรณ์ต่างๆ เหล่านี้ถ้าเกิดปัญหาเรื่องความไม่เข้ากันเมื่อไหร่จอฟ้ามรณะก็บังเกิดขึ้นครับ
ความจริงวินโดวส์เองก็มีข้อบังคับเรื่องของฮาร์ดแวร์คอมแพตทิเบิลอยู่ รายระเอียดของเรื่องนี้อยู่ที่http://www.microsoft.com/resources/documentation/windows/xp/all/proddocs/en-us/hsc_compat_overview.mspx ซึ่งอุปกรณ์แต่ละชิ้นถ้าผ่านการรับรองจากไมโครซอฟต์แล้ว จะมีโลโก้แสดงว่าวินโดวส์ คอมแพตทิเบิลอยู่ แต่สมัยนี้อุปกรณ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย บางตัวก็ติดโลโก้วินโดวส์คอมแพตทิเบิลมาด้วย แต่ผู้ใช้ก็ไม่มีทางรู้ว่าจริงหรือไม่ ยังไม่นับซอฟต์แวร์ต่างๆ ที่ร้อยพ่อพันแม่พัฒนากันออกมา ดังนั้นในความเป็นจริง ผู้ใช้จึงไม่สามารถใช้อุปกรณ์ที่เป็นคอมแพตทิเบิลร่วมกันได้ทั้งหมดได้
ที่เล่ามาทั้งหมด ขอออกตัวว่าผมไม่ได้แก้ต่างให้ไมโครซอฟท์แต่อย่างใด แค่อยากจะชี้ให้เห็นถึงสาเหตุของปัญหาบลูสกรีนที่สามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องบอกล่วงหน้า ตราบใดที่เรายังใช้วินโดวส์ที่ยังคงรันอยู่พีซีที่ภายในมีอุปกรณ์ติดตั้งไม่ซ้ำยี่ห้อกันเลยแม้แต่ยี่ห้อเดียว
ในวินโดวส์ NT, 2000 และ XP นั้น BOD ที่เกิดขึ้น มักเกิดมาจากเคอร์แนลหรือไดรเวอร์ ที่เกิดทำงานผิดพลาดโดยที่ไม่สามารถจะคืนสภาพการทำงานให้กลับมาเหมือนเดิมได้ เช่น ไดรเวอร์ส่งค่าบางอย่างที่ไม่ถูกต้องไปยังกระบวนการอื่นๆ ทำให่ตัวระบบปฏิบัติการทำงานผิดพลาด วิธีเดียวที่ผู้ใช้จะแก้ไขได้ คือ รีบูตเครื่องคอมพิวเตอร์
ซึ่งนั่นหมายความว่า ข้อมูลหรืองานที่คุณกำลังทำอยู่มีโอกาสที่จะหายไปด้วยเพราะวินโดวส์ไม่ได้ถูกสั่งปิดแบบปกติ
การพิจารณาแก้ปัญหา BOD ดูได้จากข้อความที่แสดงและเออเรอร์โค้ด บางปัญหาวินโดวส์จะแสดงข้อความที่เป็นสาเหตุอย่างชัดเจน แต่บางปัญหาก็ไม่สามารถอาศัยข้อความที่แสดงเพียงอย่างเดียว ต้องนำเอาเออเรอร์โค้ดมาร่วมพิจารณาด้วย ตำแหน่งของข้อความและเออเรอร์โค้ด
ที่มา : www.bcoms.net ,หนังสือ PCtoday
No comments:
Post a Comment