First Look ! ASUS EAH5870 (ATI Radeon HD5870)
New Generation AMD's DirectX 11 Evergreen family of GPUs
ผ่านพ้นกันไปเป็นที่เรียบร้อยเมื่อสองวันก่อนหน้านี้ สำหรับการเปิดตัวกราฟิกการ์ดตระกูลใหม่ล่าสุดจากทาง AMD-ATI ในตระกูลที่ทาง AMD นั้นได้ตั้งชื่อให้ใหม่เป็นตระกูล Evergreen หรือกับกราฟิกการ์ดในตระกุล ATI Radeon HD5800 Series ส่วนโมเดลแรกที่เปิดตัวสู่สายตาชาวโลกในวันที่ 23 กันยายน 2552 ที่ผ่านมานั้นประกอบไปด้วยสองโมเดลหลักนั่นก็คือ ATI Radeon HD5870 และ ATI Radeon HD5850 และในเวลานี้กับกราฟิกการ์ดในตระกูลดังกล่าวนี้ก็เดินทางมาถึงยัง Labs ของทางโอเวอร์คล๊อกโซนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในวันนี้เราก็จะได้มาทำความรู้จักและสัมผัสกับความแรงอีกหนึ่งยุคสมัยจากทาง AMD-ATI ที่หลายๆท่านต่างเฝ้ารอคอยกัน แต่ด้วยที่กราฟิกการ์ดนั้นเพิ่งจะเดินทางมาถึงในแบบสดๆร้อนๆ ซึ่งในวันนี้ก็ต้องขอแสดงความเสียใจกับมิตรรักแฟนเพลงทั้งหลายเอาไว้ก่อนเลยว่า จะยังคงไม่ได้รับผลทดสอบของมันแต่อย่างใดหากแต่ในวันนี้เราเพียงจะนำมาแนะนำตัวให้ได้เป็นที่รู้จักมักคุ้นกันเสียก่อนเท่านั้น หรือถ้าจะพูดเป็นศัพท์ที่เข้าใจกันในทันทีนั้นก้จะได้ว่าเป็นการ Preview นั่นเอง สำหรับในครั้งนี้กับกราฟิกการ์ดที่ทางเราได้รับมานั้นมิได้เป็นกราฟิกการ์ดในแบบ Refferecne แต่เป็นกราฟิกการ์ดจากผู้ผลิตรายใหญ่ในวงการคอมพิวเตอร์ที่มีชื่อว่า ASUS กับกราฟิกการ์ดในโมเดล ASUS EAH5870 ที่ ณ เวลานี้ถือเป็นการ์ดโมเดลใหญ่ที่สุดในตระกูล กระนั้นสำหรับกราฟิกการ์ดตัวนี้ที่เราได้รับมาแม้จะเป็นของ ASUS ก็ตามแต่ทั้งหมดก็ยังคงเป็นการ์ดในแบบ Refferecne จากทาง AMD-ATI โดยทั้งหมดไม่มีความแตกต่างใดๆทั้งสิ้นเว้นแต่เพียงจะมีสติ๊กเกอร์ระบถึงเจ้าของแบรนด์ที่เพิ่มเข้ามาเท่านั้นเอง กระนั้นแล้วในวันนี้เราก็จะขอกล่าวถึงเรื่องราวต่างๆโดยทั้งหมดของการก้าวเข้าสู่ยุคของ HD5000 Series ว่ามันมีอะไรสดใหม่ เปลี่ยนแปลงแก้ไขจากเดิมในยุคปัจจุบันนี้กับ HD4000 Series อย่างไรบ้าง ส่วนเรื่องราวของบททดสอบทางด้านความแรงนั้นจะยังคงไม่มีมาให้ได้ชมกัน เอาหละถ้าอย่างนั้นแล้วเราไปติดตามชมกันเลยว่าเจ้า ATI Radeon HD5870 กราฟิกการ์ดโมเดลแรกของโลกที่พร้อมแล้วสำหรับ DirectX 11 มันมีความพิเศษจากเดิมอย่างไรบ้าง...
New ! Cypress GPU
ก่อนที่เราจะไปว่ากันที่ตัว Hardware นั้นเรามาท้าวความถึงความเป็นมาจากกระแสข่าวก่อนหน้านี้กันสักนิดเพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ สำหรับในเวลานี้ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นอย่างแรกจากทาง AMD-ATI ต่อเรื่องราวของ GPUs จากตนเองนั้นจะเป็นในเรื่องของชื่อเรียกของรหัสการผลิตและโค๊ดเนมในการผลิต โดยแต่เดิมนั้นเรามักจะไม่มีการกล่าวถึงรหัสการผลิตของ GPUs มากนักแต่สำหรับทางด้านของ CPU นั้นเราจะคุ้นหูกันเป็นอย่างดีเช่นซีพียูจากทาง AMD ในเวลานี้จะใช้ชื่อโมเดลจากรหัสการผลิตของตนเองว่า Phenom II ส่วนโค๊ดเนมของการผลิตนั้นจะมีด้วยกันหลากหลายอาทิเช่น Denep เป็นต้น ส่วนทางด้านของอินเทลนั้นรหัสการผลิตในเวลานี้ก็จะเป็นยุคของ Nehalem ส่วนโค๊ดเนมนั้นก็ตัวอย่างเช่น Bloomfield หรือ Lynnfield ที่เพิ่งจะเปิดตัวกันไป ในส่วนนี้เชื่อว่าทุกท่านคงจะคุ้นเคยกันมาตลอดแต่หากเป็นทางด้านของ GPUs แต่เดิมเรามักจะได้ยินเพียงโค๊ดเนมการผลิตของ GPUs ในแต่ละยุคสมัยเช่น R600, R700, RV790 โดยทั้งหมดตรงนี้ซึ่งเป็นโค๊ดเนมการผลิตและจะเห็นได้ว่าโค๊ดเนมที่ใช้มักจะเป็นรหัสตัวเลขเป็นหลัก แต่มาถึงวันนี้ทาง AMD-ATI ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงเิกิดขึ้นโดยมีการนำรหัสการผลิตและโค๊ดเนมมากล่าวถึงซึ่งสำหรับกราฟิกการ์ดในตระกูลใหม่ล่าสุด ATI Radeon HD5000 Series นี้นั้นทาง AMD-ATI จะได้มีการใช้รหัสการผลิตที่มีชื่อว่า "Evergreen" ส่วนโค๊ดเนมของการผลิตนั้นก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงเช่นเดียวกันที่แต่เดิมจะเป็นรหัสตัวเลขดังตัวอย่างที่ได้กล่าวไป แต่เวลานี้ได้ใช้โค๊ดเนมในลักษณะของชื่อเรียกเฉกเช่นซีพียู ซึ่งกราฟิกการ์ดที่มาในโมเดล Radeon HD5870 และ HD5850 นั้นจะใช้โค๊ดเนมในการผลิต GPUs Chips ที่มีชื่อว่า " Cypress " แทนที่จะเป็น RV880 หรือตัวเลขอื่นๆดังที่เคยเป็นมา และเวลานี้เราก็คงจะได้รู้จักกันไปแล้วว่า Cypress ที่เราจะได้กล่าวถึงกันต่อไปนั้นคืออะไร ถ้าอย่างนั้นแล้วเราก็ไปทำความรู้จักกับเจ้า Cypress กันเลยดีกว่าว่ามันจะมีอะไรที่แตกต่างไปจาก RV770 และ RV790 ในตระกูล ATI Radeon HD4870 และ HD4890 ที่ถือว่าเป็นพี่ใหญ่ในปัจจุบันนี้สำหรับกราฟิกการ์ดในแบบ Single GPU จากทาง AMD-ATI
สำหรับ Cypress ถือได้ว่าเป็นกราฟิกชิบโมเดลใหม่ล่าสุดจากทาง AMD-ATI ที่เพิ่งจะเปิดตัวกันไป โดยการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในส่วนของตัว Hardware ไม่นับรวมถึงรูปทรงภายนอกของตัวการ์ดนั้น จะว่าไปแล้วอาจจะไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากRV770 และ RV790 เดิมมากนัก แต่มันก็มีการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนในเลยทีเดียว สำหรับชิบกราฟิกในรหัส Cypress นั้นทั้งหมดได้ถูกผลิตขึ้นบนพื้นฐานของชิบในรหัส RV770 เดิมแทบจะทั้งหมดแต่ความแตกต่างอย่างแรกที่เกิดขึ้นคือการเปลี่ยนขนาดของกระบวนการผลิตจากเดิมที่ 55nm สู่กระบวนการผลิตในขนาด 40nm เช่นเดียวกันกับกราฟิกชิบในรหัส RV740 ของ ATI Radeon HD4770ส่วนคำกล่าวที่ว่า Cypress ได้ถูกผลิตจากพืนฐานของในส่วน RV770 นั้นหากอยากจะทราบว่า RV770 มีคุณสมบัติและรายละเอียดต่างๆอย่างไรบ้าง สามารถเข้าไปติดตามอ่านได้จากเรื่องราวที่เราได้เคยนำเสนอไว้จาก พลังขับเคลื่อนล่าสุดจาก AMD-ATI กับ Radeon HD4800 Series ด้วย ASUS EAH4850 ซึ่งจะทำให้จากนี้ไปสามารถที่จะเข้าใจได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งนอกจากในเรื่องของขนาดกระบวนการผลิตที่เล็กลงแล้วนั้น ความแตกต่างที่อย่างสิ้นเชิงซึ่งเป็นจุดหลักที่น่าสนใจก็คือในส่วนของขนาด Uni Shader ของเจ้า Cypress ซึ่งจะมีจำนวนทั้งหมด 1600 unit นับเป็นจำนวนสองเท่าของ RV770 ที่จะมีขนาดเพียง 800 unit และจากขนาดหรือจำนวนที่เพิ่มขึ้นตรงนี้ของตัว GPUs นั้นอาจจะเรียกได้ว่าเป็นการ Rebuild ของ RV770 ก็ได้เพราะว่าทาง AMD-ATI ได้เพิ่มจำนวนของ Uni Shader โดยการนำเอาชุด SIMD Engine จากโครงสร้างของ RV770 จำนวนสองชุดมาประกอบเข้าด้วยกันเลยทำให้ Cypress มี Uni Shader ทั้งหมด 1600 unit ดังที่ปรากฏ ซึ่งตรงนี้ก็เป็นผลมาจากขนาดของกระบวนการผลิตที่เล็กลงเป็น 40nm นั่นเองที่ทำให้สามารถเพิ่มจำนวนของชุด SIMD ลงไปได้อีกหนึ่งชุดอย่างไม่เป็นปัญหา และไม่เพียงในส่วนของจำนวน Uni Shader ที่เพิ่มขึ้นในเรื่องของความเร็วในการทำงานของ Cypress ก็มีความเร็วที่เพิ่มขึ้นจาก RV770 อีกเช่นกันกล่าวคือ RV770 จะมีความเร็วในการประมวลผลที่ระดับ 750MHz แต่สำหรับ Cypress จะมีความเร็วในการทำงานที่เท่ากับ RV790 คือ 850MHz และในจุดต่อมาคือในส่วนของขนาด L2 Cache ภายในตัว GPUs ทาง AMD-ATI ก็ได้มีการเพิ่มขนาดเป็นสองเท่าจากเดิมของ RV770 ที่มีขนาดตัวละ 64KB จากทั้งหมด 4 ชุดไปเป็นตัวละ 128KB ซึ่งตรงนี้ก็เพื่อรองรับข้อมูลที่จะมีจำนวนมากขึ้นจากขนาดของ Uni Shader ที่เพิ่มมากขึ้นเป้นสองเท่านั่นเอง และนอกจากนี้เมื่อขนาดของ L2 Cache มีขนาดใหญ่ขึ้นก็จะสามารถส่งข้อมูลให้กับชุด L1 ได้รวดเร็วขึ้นอีกด้วยเพราะตัว L2 Cache มีความสามารถในการสำรองข้อมูลได้มากขึ้นนั่นเอง ท้ายที่สุดแล้วก็ช่วยส่งผลให้ประสิทธิภาพสุดท้ายเพิ่มขึ้นอีกด้วย สุดท้ายกับในส่วนของตัว GPUs ในความเปลี่ยนแปลงที่เิกดขึ้นซึ่งทาง AMD-ATI ได้มีการเพิ่มชุดควบคุมการแสดงผลที่มีชื่อว่า Eyefinity Display Controller เพื่อช่วยให้ตัวกราฟิกการ์ดนั้นสามารถแสดงผลได้ในแบบ Multi-Mornitor มากขึ้นซึ่งสามารถรองรับการแสดงผลได้สูงสุดถึง 6 Display ด้วยกัน ซึ่งจากทั้งหมดตรงนี้ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของ Cypress ที่เราจะได้สัมผัสและใช้งานกันต่อไป สำหรับทางด้านของเมโมรีที่ทำงานร่วมกับ Cypress ก็จะยังคงเป็นเมโมรีในแบบ GDDR5 เช่นเดียวกันแต่จะมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยในส่วนของ
โค๊ดคำสั่งการทำงานภายในของตัว Memory Controller ที่จะมีระบบการจัดการข้อมูลที่ผิดพลาด โดยที่จะสามารถตรวจสอบค้นหาข้อมูลที่มีความผิดพลาดที่อยุ่ภายในตัวเมโมรี และจากนั้นก็สามารถแก้ไขข้อมุลเหล่านั้นให้ถูกต้องได้ก่อนที่จะส่งข้อมูลออกไป ในส่วนนี้จะมีทั้งผลดีและผลเสียแต่หากมองในมุมมองของการใช้งานปรกติจะถือว่าเป็นข้อดีอย่างมาก ที่สามารถแก้ไขข้อมุลที่ผิดพลาดให้ถูกต้องได้ และจะส่งผลให้เราสามารถเพิ่มความเร็วในการโอเวอร์คล๊อกของตัว Memory ให้สูงขึ้นได้ค่อนข้างมากอีกด้วย โดยที่จะไม่พบกับอาการผิดปรกติในส่วนของภาพที่ออกมา แต่ผลเสียที่กล่าวไปนั้นคือในการโอเวอร์คล๊อกหากมีการใช้ความเร็วของเมโมรีในระดับที่สูงมาก เราอาจจะไม่เจออาการผิดปรกติในการแสดงผลซึ่งเมโมรีจะยังคงสามารถทำงานได้อย่างปรกติ แต่ประสิทธิภาพที่ออกมานั้นจะลดลงไป นอกจากในเรื่องของการตรวจสอบความผิดพลาดแล้วนั้นชุดเมโมรีคอนโทรลเลอร์ของ Cypress จะยังสามารถลดความเร็วการทำงานของเมโมรีลงได้ในภาวะ Idle เช่นเดียวกันกับความเร็วของ GPU อีกด้วย นั่นก็เท่ากับว่าจะสามารถช่วยลดระดับการบริโภคพลังงานลงไปได้ในอีกระดับหนึ่งเลยทีเดียว สุดท้ายสำหรับสิ่งที่จะลืมไปไม่ได้เลยกับ AMD Cypress ในวันนี้กับความสามารถที่เป็นเจ้าแรกของโลกในวงการกราฟิกการ์ดด้วยการรองรับการทำงานของ DirectX 11 เป็นที่เรียบร้อยแล้วนั่นเอง
Features/GPU | Radeon HD5870 | Radeon HD5850 | Radeon HD4870X2 | Radeon HD4890 | Radeon HD4870 |
Codename | Cypress XT | Cypress Pro | R700 | RV790 | RV770XT |
Transistor Count (Millions) | 2154 million | 2154 million | 956x2 million | 959 million | 956 million |
Fabrication Process | 40 nm | 40 nm | 55nm | 55nm | 55 nm |
Die size | 338 mmˆ2 | 338 mmˆ2 | 260 mmˆ2 | 282 mmˆ2 | 260 mmˆ2 |
Memory (Max) | 1GB | 1GB | 2x1 GB | 1GB | 1GB/512 MB |
Uni Shader | 1600 | 1440 | 800x2 | 800 | 800 |
Core Speed | 850 MHz | 725 MHz | 750 MHz | 850 MHz | 750 MHz |
Memory Speed | 4800 MHz | 4000 MHz | 3600 MHz | 3900 MHz | 3600 MHz |
Maximum Fill Rate (MTexels/s) | 68000 | 52200 | 2x 30000 | 34000 | 30000 |
Memory Bus Width | 256-bit | 256-bit | 256-bit | 256-bit | 256-bit |
Memory Type | GDDR5 | GDDR5 | GDDR5 | GDDR5 | GDDR5 |
Max Memory Bandwidth | 153.6 GB/s | 128 GB/s | 115.2x2 GB/s | 124.8 GB/s | 115.2 GB/s |
Multi-GPU Support | Yes, CrossfireX | Yes, CrossfireX | Yes, CrossfireX | Yes, CrossfireX | Yes, CrossfireX |
DirectX Version Support | 11 | 11 | 10.1 | 10.1 | 10.1 |
OpenGL Version Support | 2.1 | 2.1 | 2.1 | 2.1 | 2.1 |
Bus Type | PCI-E 2.0 | PCI-E 2.0 | PCI-E 2.0 | PCI-E 2.0 | PCI-E 2.0 |
OverclockZone |
จากเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดขึ้นเราก็คงจะได้ทราบกันไปแล้วว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้างสำหรับ AMD Cypress ตรงนี้เราลองมาดูข้อมุลทางเทคนิคกันสักนิดระหว่าง Cypress XT และ Cypress Pro ว่าจะมีอะไรแตกต่างกันออกไปบ้าง จากตารางข้างต้นเราจะพบว่าระหว่าง Cypress XT และ Cypress Pro หรือ HD5870 และ HD5850 นั้นจะแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยเท่านั้นคือแตกต่างกันเพียงเรื่องของจำนวน Uni Shader และที่ Cypress XT จะประกอบด้วย Uni Shader 1600Unit ส่วน Cypress Pro จะมีเพียง 1440unit ส่วนความเร็วในการประมวลผลของ ATI Radeon HD5870 จะมีความเร็วในการทำงานที่ 850/4800MHz Core/Memory แต่สำหรับ ATI Radeon HD5850 จะมีความเร็วที่ลดต่ำลงมาคือ 725/1000MHz Core/Memory สำหรับในส่วนของความแตกต่างจากจำนวน Uni Shader ระหว่าง XT และ Pro นั้นก็เป็นเพียงการปิดใช้งานของ Uni Shader จากตัว XT มาเป็น Pro เท่านั้น จากตรงนี้ไม่แน่ว่าอาจจะมีข่าวดีออกมาให้ลุ้นกันอีกครั้งว่าจะมีทางที่เปิดใช้งานในส่วนที่ถูกปิดนี้ได้หรือไม่ ดังเช่นที่เคยเป็นมาในอดีตอย่างการเปิด Pipe-Line หรือการเปลี่ยน HD2900GT ไปเป็น HD2900XT เรื่องนี้ค่อนข้างน่าติดตามไม่น้อย เอาหละในส่วนของรายละเอียดทางเทคนิคต่างๆในวันนี้ก็คงจะมีอะไรแต่เพียงเท่านี้ จากนี้ไปเดี๋ยวเราไปติดตามชมกันในส่วนของตัว Hardware กันต่อเลยแล้วกันครับ
ASUS EAH5870 (ATI Radeon HD5870)
สำหรับตัวการ์ดเองนั้นได้มีการออกแบบรูปร่างหน้าตามาใหม่ทั้งหมด ซึ่งรูปทรงจะออกมาในแบบเรียบๆไม่หวือหวาเท่าใดนัก แต่โดยรวมแล้วก็ถือว่าสวยงามอยุ่ กับลักษณะของชุดระบายความร้อนที่จะมีฝาครอบคลุมตลอดทั้งตัวการ์ด หากมองจากทางด้านบนนั้นแทบจะมองไม่เห็นตัว PCB เลย ส่วนทางด้านหลังเองก็เช่นเดียวกันที่จะมีฝาครอบแผ่นโลหะที่ทำจากอลูมิเนียมปกคลุมไว้เกือบทั้งหมดเช่นกัน ส่วนโทนสีหลักที่ใช้นั้นจะเป็นสีดำคาดแดงตามแบบของกราฟิกการ์ดจากทาง ATI ตัวฝาครอบทางด้านหน้าหากเป็นการ์ดมาตรฐาน AMD จะไม่มีลวดลายใดๆเลยจะมีก็เพียงแถบคาดสีแดงบริเวณกึ่งกลางการ์ด สำหรับการ์ดตัวนี้จากทาง ASUS นั้นทาง ASUS เองก็ไม่ได้มีการใช้ลวดลายใดๆเช่นกันจะมีเพียงโลโก ASUS บริเวณมุมซ้ายล่างและบนตัวพัดลมระบายความร้อนเท่านั้นเอง
Package & Bundled
ในส่วนของตัวแพ็กเกจนั้นสีสันและลวดลายที่ใช้มาในแบบฉบับของการ์ดในตระกุล ATI Radeon HD4800 Series ของตนเองทั้งหมด และบริเวณหน้ากล่องจะเห็นว่ามีข้อความ Voltage Tweak ระบุไว้นั่นก็หมายความว่ากราฟิกการ์ดตัวนี้จากทาง ASUS รองรับฟังก์ชันการเพิ่มไฟเลี้ยงให้กับตัวกราฟิกชิบได้นั่นเอง ส่วนทางด้านของอุปกรณ์บันเดิลก็ไม่มีอะไรเป็นพิเศษนอกจากคูปองสำหรับใช้ดาว์นโหลดเกม Colin Mcrae DIRT2 ซึ่งเป็นเกมส์ที่รองรับ DirectX 11 เป็นเกมส์แรกๆโดยจะพร้อมให้ดาว์นโหลดมาเล่นได้ในประมาณเดือนธันวาคมนี้
บริเวณฝาครอบอลูมิเนียมทางด้านหลังเราก็จะพบกับสัญลักษณ์ ATI Radeon Premium Graphic ซึ่งแสดงให้เห็นว่า กราฟิกการ์ดในโมเดลดังกล่าวนี้อยุ่ในกลุ่มระดับใด
สำหรับพอร์ทสำหรับจ่ายไฟเลี้ยงเพิ่มเติมให้กับตัวการ์ดนั้นจะมาในแบบ Pci-e 1.0 หรือในแบบ 6pin จำนวนสองชุดเช่นเดียวกันกับกราฟิกการ์ดในโมเดล ATI Radeon HD4870 และ ATI Radeon HD4890 โดยไม่มีความต้องการที่จะใช้หัวจ่ายไฟเลี้ยงในแบบ Pci-e 2.0 หรือ 8pin ซึ่งนั่นก็หมายความว่าตัวการ์ดไม่ได้ต้องการใช้พลังงานที่สูงมากนั่นเอง และสำหรับพินในการเชื่อมต่อใช้งานการ์ดในโหมด Crossfire นั้นจะยังคงมีมาในจำนวนสองชุด แสดงให้เห็นว่ากราฟิกการ์ดในตระกูลดังกล่าวนี้ยังคงรองรับการใช้งานในแบบ CrossfireX ได้มากที่สุด 4GPU เช่นเดิม
เล็กๆน้อยกับรายละเอียดในการออกแบบของตัวฝาครอบ เพื่อเพิ่มความสวยงามให้กับตัวการ์ดที่จะทำให้ตัวจะได้ไม่ดูทื่อๆ จนเกินไปกับช่องระบายอากาศในบริเวณท้ายการ์ดจำนวนสองช่อง พร้อมด้วยขอบสีแดงตัดกับพื้นสีดำที่ดูแล้วสวยงามดี
Connection Port
สำหรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นซึ่งเป็นผลพลอยได้จากเทคโนโลยี Eyefinity ที่ทำให้กราฟิกการ์ดในโมเดลดังกล่าวนี้จะสามารถรองรับการเชื่อมต่อการแสดงผลได้สูงสุด 3 จอแสดงผลโดยจะมีพอร์ทสำหรับเชื่อมต่อสู่จอแสดงผลทั้งหมด 3 รูปแบบสี่จุดด้วยกันอันประกอบไปด้วย Dual-DVI, HDMI 1.3 และ Display Port ในส่วนนี้เป็นอะไรที่ยืดหยุ่นต่อการใช้งานได้มากเลยทีเดียวกับประเภทของพอร์ทที่มีมาให้ในหลากหลายรูปแบบ
Size Compared
เราลองมาดูกันที่เรื่องของขนาดตัวกันบ้างสำหรับเจ้า ATI Radeon HD5870 จากที่เห็นกันมาก่อนหน้านี้จากข่าวแหล่งต่างๆ และเชื่อว่าหลายๆท่านต่างก็คงจะสงสัยกันว่าตัวการ์ดนั้นจะยาวมากน้อยสักเพียงไร ซึ่งความยาวของตัวการ์ดนั้นจะมีความยาว 28cm ถือว่าเป็นการ์ดที่ยาวพอสมควร หากดูจากความยาวของการ์ดที่เรานำมาเปรียบเทียบด้วยแล้วนั้นนับว่าเป็นการ์ดที่ยาวที่สุดในเวลานี้
Final Words
ในวันนี้กับบทสรุปของเราคงจะยังไม่ขอกล่าวอะไรมากนัก เพราะในวันนี้เป็นเพียงการนำเสนอในแบบแนะนำตัวให้ได้รู้จักกันก่อนเท่านั้น ซึ่งรายละเอียดต่างๆไม่ว่าจะเป็นทางด้านเทคนิคและข้อมูลจำเพาะต่างๆก็คิดว่าน่าจะครบถ้วนกระบวนท่าไปพอสมควร เราก็คงจะได้รู้จักกันไปเป็นที่เรียบร้อยสำหรับ AMD Cypress ที่ในเวลานี้จะมีออกมาให้ได้เห็นกันเพียงโมเดลเดียวเท่านั้นคือ ATI Radeon HD5870 ที่เป็นโมเดลเปิดตัว แต่คิดว่าอีกไม่นานเราก็จะได้พบกับโมเดลรองอย่าง ATI Radeon HD5850 อย่างแน่นอน สำหรับในส่วนของรูปร่างหน้าตานั้นก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าจะเหมือนกันกับในโมเดล HD5870 ดังที่เป็นข่าวหรือไม่ คงต้องรอชมการ์ดตัวเป็นๆออกมาเสียก่อน สำหรับในวันนี้หากย้อนกลับไปมองกันที่ความเปลี่ยนแปลงที่ได้ทราบกันไปนั้น เราก็คงน่าจะประเมินความแรงหรือประสิทธิภาพกันได้บ้างแล้วว่าจะออกมาในรูปใด แต่ในท้ายที่สุดแล้วมันจะเป็นไปตามที่คาดหวังไว้หรือไม่ก็ต้องรอชมบททดสอบกันอีกครั้ง และอีกหนึ่งอย่างที่อยากจะกล่าวไว้ตรงนี้สำหรับการนำเสนอในวันนี้ ที่ทางเราไม่ได้มีภาพในส่วนของตัว PCB มาให้ได้ชมกันก็เพราะว่า ยังไม่อยากที่จะรื้อตัวการ์ดก่อนทำการทดสอบอย่างไรแล้วก็ไว้รอชมในครั้นทำการทดสอบ เดี๋ยวจะได้นำมาให้ได้ชมกันแบบทุกอนูทุกมุมอย่างแน่นอน เอาหละครับสำหรับวันนี้นั้นก็คงจะมีอะไรนำเสนอให้ได้ชมกันแต่เพียงเท่านี้ก่อน บททดสอบเสร็จสิ้นเมื่อไหร่เรามาว่ากันอีกครั้ง.... สวัสดีครับ...
ASUS EAH5870 (ATI Radeon HD5870) |
Special Thanks: ASUSTek Inc. ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.overclockzone.com |
No comments:
Post a Comment